ผมนั่งหาคำตอบของทฤษฎีวัฒนธรรมประจำชาติ National Culture ในส่วนองค์ประกอบข้อที่ 4 คือ สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ กับสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ หรืออาจเรียกว่า สังคมความเป็นชาย (masculinity) ตรงข้ามกับ สังคมความเป็นหญิง (femininity)

ผมสังเกตวัฒนธรรมของคนมลายู เวลาแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิง คือผู้ชายจะเกรงใจผู้หญิง ตามใจผู้หญิง ไม่อยากให้ภรรยาลำบาก จึงยินดีย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิงหรือสร้างบ้านในที่ดินของฝ่ายหญิง ผลที่ตามมาก็คือ ภรรยาเป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าสามี เพราะสามีเกรงใจพ่อตา แม่ยาย ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะสร้างครอบครัว หรือเลี้ยงดูลูกให้เข้มแข็งในแบบที่ตัวเองตั้งใจไว้

แตกต่างจากวัฒนธรรมของคนจีน หรือคนเชื้อสายปาทาน ที่เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงต้องเข้าไปอยู่บ้านผู้ชาย เมื่อผู้ชายมีอำนาจต่อรองมากกว่า การเลี้ยงดูลูกจึงเป็นแบบเข้มแข็ง เน้นระเบียบวินัย เน้นการสร้างภาวะผู้นำ และฝึกความลำบาก

จะสังเกตได้ว่าวัฒนธรรมของชาวจีนจะให้ความสำคัญกับลูกชายมาก เพราะลูกชายหมายถึง ผู้สืบวงศ์ตระกูล เป็นผู้นำครอบครัว และผู้สร้างความมั่งคั่ง หรือสร้างอณาจักรทางธุรกิจให้ครอบครัว

ชาวจีนเน้นการสร้างภาวะผู้นำในตัวลูกชายตั้งแต่เด็ก อบรมสั่งสอนอย่างเข้มงวด ให้รู้จักความยากลำบาก เพื่อโตไปจะได้เป็นคนที่เข้มแข็ง และเป็นผู้นำได้

ในสังคมมลายูมุสลิม ถึงแม้อิสลามจะเน้นให้ผู้ชายเป็นผู้นำ แต่ในภาคปฏิบัติแล้ว มันเป็นสังคมแบบผู้หญิงเป็นใหญ่ (femininity) มีความอ่อนโยน เอื้ออาทร ผู้ชายหลายคนไม่มีภาวะการเป็นผู้นำ

ท้ายนี้ไม่ได้จะบอกว่ารูปแบบสังคมแบบผู้ชาย หรือแบบผู้หญิงแบบไหนดีกว่ากัน แค่จะเปรียบเทียบความแตกต่างของวัฒนธรรมตามที่ได้ศึกษาวิจัยมา ไม่ได้ยกตัวอย่างครอบครัวตนเอง แค่อธิบายความเป็นจริงในภาพรวมเท่านั้น

เขียนโดย มีเดียน จูมะ Meedian Chumat