ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ competitive strategy

มุมมองศาสนาอิสลามกับกลยุทธ์การแข่งขัน

มีนักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับกลยุทธ์การแข่งขัน Khraim (2010) ได้กล่าวว่า ศาสนามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้ประกอบการ ความแตกต่างของศาสนาส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำหนดกลยุทธ์ และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เช่น คนจีนที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน หรือลัทธิขงจื้อ จะมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าผู้ประกอบการมุสลิมในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือในประเทศไทย Abu Raiya and Kenneth (2010) ได้กล่าวว่า ในบริบทของผู้ประกอบการมุสลิมแล้วศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมุสลิมดำเนินธุรกิจด้วยความขยัน ตั้งใจ อดทน และทำงานอย่างสุดความสามารถ Imam Ghazli ได้กล่าวว่า มุสลิมทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในโลกนี้และโลกหน้าควรมีคุณลักษณะดังนี้

(1) มีเป้าหมายชัดเจน ในบริบทของผู้ประกอบการแล้ว ผู้ประกอบการต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ รวมทั้งต้องมีเป้าหมายระยะยาว ซึ่งการที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้นั้น ผู้ประกอบการต้องมีการวางกลยุทธ์ในแต่ละช่วงเวลาให้ชัดเจน

(2) การใฝ่รู้ ถือเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้ การใฝ่รู้จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลและความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา และสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนากลยุทธ์การแข่งขันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นการใฝ่รู้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเท่าทันกับการแข่งขันที่รุนแรงของเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบันได้

(3) พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการวางกลยุทธ์การแข่งขัน เพราะการที่ผู้ประกอบการจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้นั้นต้องมีการพัฒนาสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา เช่น การพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง มีสินค้าที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้มีคุณภาพมากที่สุด (Mohd, 2005) อีกทั้งการพัฒนาตลอดเวลาทำให้ผู้ประกอบการค้นพบวิธีการลดต้นทุนในการดำเนินกิจการ หรือสามารถหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพดีกว่าและราคาต่ำกว่า ดังนั้นแนวคิดของศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการใฝ่รู้ และมีการพัฒนาตลอดเวลา

ซึ่งทั้ง 3 คุณลักษณะนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการวางกลยุทธ์การแข่งขันในประสบความสำเร็จ (Ahmad, 2006)

 ความเชื่อมโยงระหว่างมุมมองศาสนาอิสลามกับความสามารถในการแข่งขัน

          พื้นฐานแนวคิดของศาสนาอิสลามมาจากอัลกุรอ่าน ฮาดิษ (พระวัจนะของท่านศาสดามูฮัมมัด) และจากบรรดานักวิชาการมุสลิม ในบริบทของความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในมุมมองของอิสลามแล้ว ความสามารถในการแข่งขันเกิดจากทัศนคติ บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่เป็นผลผลิตจากพื้นฐานของศาสนา (Tayeb, 1997) ความสามารถในการแข่งขันหรือประสิทธิภาพตรงกับคำว่า Alfalah ในภาษาอาหรับ ซึ่งหมายถึง ความดีงาม ประสิทธิภาพ หรือมีความสามารถเหนือกว่าคู่แข่ง อีกทั้งยังหมายถึง การทำสิ่งต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการของศาสนาอิสลาม Sadri (2010) กล่าวว่า อิสลามให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพหรือความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเกิดจากทัศนะคติ หรือวิธีคิดในการมองความสำเร็จว่ามาจากอัลลอฮ์ และการทำธุรกิจมีเป้าหมายเพื่อความพึงพอใจต่ออัลลอฮ์ เพราะความสำเร็จของผู้ประกอบการจะทำให้เกิดการจ้างงาน สามารถนำรายได้หรือความมั่งคั่งช่วยเหลือสังคมได้ ท่านศาสดา  มูฮัมมัดได้รับคำสั่งจากอัลลอฮ์ว่าให้ทำสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุด ท่านศาสดามูฮัมมัดกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮ์รักผู้ที่ทำงานดีและสมบูรณ์แบบ และท่านศาสดามูฮัมมัดยังกล่าวอีกว่า ถ้าท่านละหมาด ท่านจงละหมาดให้ดี และถ้าท่านถือศีลอด ท่านจงถือศีลอดให้ดี ดังนั้นผู้ประกอบการมุสลิมต้องทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ อดทน เพื่อที่จะได้รับผลตอยแทนที่ดีและมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยกิจกรรมทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของอิสลามและแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมมัด (Ismail, 2006)

เขียนโดย มีเดียน จูมะ Meedian Chumat